EN TH
ในปี 2564 ภาวะเศรษฐกิจไทยโดยรวมยังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธ์ใหม่ โดยเฉพาะในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2564 โดยภาคการท่องเที่ยวและบริการกลับมาหดตัวรุนแรงตามกิจกรรมและการเดินทางที่ลดลงในช่วงมาตรการล็อกดาวน์ความต้องการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอลล์ลดลงต่ำกว่าปีก่อนหน้า ส่งผลให้ความต้องการเอทานอลเกรดเชื้อเพลิงลดลงอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ธุรกิจแป้งมันสำปะหลังเผชิญปัจจัยท้าทายจากปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และปัญหาการบริหารจัดการท่าเรือ ส่งผลให้อัตราค่าระวางเรือปรับตัวสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว คณะกรรมการบริษัทจึงมุ่งให้ความสำคัญกับการรับมือและปรับตัวอย่างรวดเร็วในการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อผลักดันให้ผลการดำเนินงานของบริษัทเป็นไปตามแผนงานและเป้าหมายที่กำหนดไว้อย่างดีที่สุด ส่งผลให้ในปี 2564 บริษัทมีรายได้และกำไรเท่ากับ 6,966.7 ล้านบาท และ 320.9 ล้านบาท คิดเป็นอัตราเติบโตร้อยละ 57.1 และร้อยละ 223.0 จากปีก่อนหน้า ตามลำดับ จากสัดส่วนปริมาณจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มที่เติบโตขึ้น ทั้งเอทานอลเกรดอุตสาหกรรมและแป้งออร์แกนิก ประกอบกับการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาจำหน่ายเอทานอลเกรดเชื้อเพลิง

ทั้งนี้ในปี 2564 บริษัทได้เริ่มจำหน่ายผลิตภัณฑ์ฟลาวมันสำปะหลัง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่มจากผลผลิตมันสำปะหลัง ภายใต้ตราสินค้า "Tasuko" ซึ่งประกอบด้วย ฟลาวมันสำปะหลังทั่วไป (Native Flour) ฟลาวมันสำปะหลังออร์แกนิก (Organic Flour) และฟลาวมันสำปะหลังผสมเสร็จ (Premix Flour) ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ปราศจากสารกลูเตน สามารถใช้ทดแทนแป้งสาลีเพื่อทำผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ที่ปลอดภัยต่อการบริโภค

อีกทั้ง บริษัทยังประสบความสำเร็จในการขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) โดยหุ้นสามัญของบริษัท (UBE) เริ่มทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในวันที่ 30 กันยายน 2564 โดยมีมูลค่า Market Capitalizationเท่ากับ 9,394.3 ล้านบาท (ณ ราคาเสนอขาย IPO) และได้เงินจากการระดมทุน (ภายหลังหักค่าใช้จ่ายในการเสนอขายหลักทรัพย์) รวมทั้งสิ้น 2,742.7 ล้านบาท เพื่อใช้ในการลงทุนเพื่อต่อยอดผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มของบริษัท รวมถึงใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนภายในกิจการ นับเป็นก้าวสำคัญของบริษัทที่จะเพิ่มศักยภาพในการดำเนินงานจากการมีฐานะการเงินที่เข้มแข็งขึ้นเพื่อเร่งการขยายธุรกิจต่อไปในอนาคต

บริษัทมุ่งเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มผ่านการพัฒนาสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ยั่งยืนตั้งแต่กระบวนการปลูกไปจนถึงมือผู้บริโภค ด้วยความจริงใจ ใส่ใจ พัฒนาศักยภาพบุคลากรและดูแลผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการความยั่งยืนที่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์และมาตรฐานด้านความยั่งยืนในระดับสากล ใน 3 มิติ ได้แก่ มิติเศรษฐกิจ มิติสังคม และมิติสิ่งแวดล้อม หรือ ESG (Environmental, Social, and Governance) ด้วยการดำเนินธุรกิจโดยยึดถือหลักธรรมาภิบาล การพัฒนาที่ยั่งยืน มุ่งเน้นดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมตลอดกระบวนการผลิต

คณะกรรมการบริษัทขอขอบคุณท่านผู้ถือหุ้นและผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายที่มอบความไว้วางใจและสนับสนุนการดำเนินงานของบริษัทด้วยดีเสมอมา รวมทั้งขอบคุณฝ่ายจัดการและพนักงานที่มุ่งมั่นปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มความสามารถเพื่อผลักดันให้การดำเนินธุรกิจและกิจกรรมต่างๆ ของบริษัทในปี 2564 มีความก้าวหน้าแม้ต้องเผชิญสถานการณ์ที่ท้าทายต่อเนื่องจากปีก่อนหน้า และขอให้เชื่อมั่นว่าบริษัทจะยังคงมุ่งมั่นพัฒนาองค์กรให้ประสบความสำเร็จภายใต้ระบบการบริหารงานตามหลักธรรมาภิบาล เสริมสร้างความเจริญก้าวหน้า และรักษาความเป็นผู้นำด้านผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์อย่างครบวงจร โดยมีมาตรฐานระดับสากล เพื่อยกระดับกระบวนการดำเนินงานตลอดห่วงโซ่คุณค่าอันเป็นรากฐานสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป

นายพลากร สุวรรณรัฐ

ประธานกรรมการ